การนุ่งห่มด้วยสีประจำวันตามแบบโบราณ

Jun 2, 2018ชุดไทย

เรียบเรียงโดย สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
หลายท่านอาจเคยได้ยินปู่ย่าตายายบอกเล่าให้ฟังเรื่องการแต่งกายตามสีประจำวันให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง หรืออาจเคยอ่านบทความต่างๆที่มีผู้กล่าวอ้างถึงตำราเกี่ยวกับการแต่งกายมาแล้วมากมายนะคะ เท่าที่มีการถ่ายทอดไว้ให้คนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้และนำมาเป็นแบบอย่างอ้างอิงได้อย่างชัดเจน ก็มีคำกลอน “สวัสดิรักษา” ที่สุนทรภู่แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ พระลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ดังนี้

“อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ               ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี                เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว         จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน           เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด             กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี         วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ                 แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม                 ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัย”

บทประพันธ์นี้ ภายหลังมีการนำมาบรรจุทำนองดนตรี และประดิษฐ์ท่ารำ “สวัสดิรักษานักรบ” ออกเผยแพร่เป็นการแสดงนาฏศิลป์ที่นิยมกันชุดหนึ่ง ดิฉันเองในฐานะเด็กนาฏศิลป์ก็เคยเห็นอยู่บ่อยครั้ง และสามารถท่องจำบทกลอนได้ไม่ลืม

แหล่งอ้างอิงเรื่องการแต่งกายสีประจำวันยุคสมัยใกล้เข้ามาอีกหน่อยก็คือนวนิยายเรื่อง “สี่แผ่นดิน”ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า

“สําหรับวันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ําเงินอ่อน หรือจะห่มบานเย็นก็ได้ แต่ถ้าวันจันทร์จะนุ่งสีน้ำเงิน นกพิราบต้องห่มจําปาแดง แล้วแม่ก็หยิบผ้าห่มสีดอกจําปาแก่ๆ ออกวางทับบนผ้าลายสีน้ําเงินเหลือบที่วางไว้ แม่อธิบายต่อ วันอังคาร นุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปรางแล้วห่มโศก หรือถ้านุ่งโศกหรือเขียวอ่อน ต้องห่ม ม่วงอ่อน วันพุธ นุ่งสีถั่วก็ได้ สีเหล็กก็ได้แล้วห่มจําปา วันพฤหัสนุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก หรือนุ่งแสดห่ม เขียวอ่อน วันศุกร์ นุ่งน้ําเงินแก่ห่มเหลือง วันเสาร์ นุ่งเม็ดมะปรางห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงก็ห่มโศก เหมือนกัน นี่ผืนนี้แหละผ้าลายพื้นม่วงหายากจะตายไป กุลีหนึ่งก็มีผืนเดียวเวลาไว้ทุกข์ก็นุ่งผ้าลายพื้นม่วงนี่ เหมือนกัน แต่ต้องห่มสีนวล วันอาทิตย์ จะแต่งเหมือนวันพฤหัสก็ได้ คือ นุ่งเขียว ห่มแดง หรือไม่ยังงั้นก็นุ่ง ผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่หรือสีเลือดหมู แล้วห่มโศก จําไว้นะพลอย อย่าไปแต่งตัวเร่อร่าเป็นคนบ้านนอก เดี๋ยวเขาจะ หาว่าแม่เป็นชาววังแล้วไม่สอน” (๑) จากหนังสือ "สี่แผ่นดิน" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ที่กล่าวนี้ ส่วนมากเป็นพวกในวังที่ใช้สีตัดกัน แต่มีบางคนก็ใช้สีเดียวกัน ทั้งชุด “…..คนข้างนอกเวลานี้เขาก็แปลก นึกจะนุ่งสีอะไร ห่มสีอะไรเขาก็เอาแต่ใจเขา บางทีก็แต่งเป็นชุดผ้านุ่ง ผ้าห่มสีเดียวกัน ไม่ตัดสีเหมือนอย่างพวกเราในนี้อย่างลูกสาวใหญ่ของเจ้าคุณอิฉันที่บ้าน เขาแต่งตัวตามแต่จะ เห็นงาม” (๒) จากหนังสือ "สี่แผ่นดิน" ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

(๑-๒ คัดมาจากหนังสือ “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)
จะเห็นได้ว่าธรรมเนียมการแต่งกายแบบสาวชาววังจะมีรายละเอียดมากกว่าคนทั่วไป และวันหนึ่งอาจเลือกใช้ได้มากกว่าหนึ่งสี ทั้งนุ่ง และห่ม แต่ก็ต้องจับคู่สีตัดกันตามที่สืบทอดกันมา พอเรานำมาเป็นหลักในการแต่งกายชุดไทยย้อนยุคไปร่วมงานไหนๆ ก็จะทำให้มีแนวทางเลือกจับคู่สีได้เหมาะสมสวยงาม ไม่นุ่งห่มสีตามอำเภอใจ หรือสีที่คนปัจจุบันอาจเห็นว่าเข้ากันทั้งท่อนบนท่อนล่างหรือคุมโทนสีเดียวทั้งนุ่งและห่ม ก็อาจเป็นสีที่ไม่ถูกต้องตามตำราก็ได้นะคะ

ภาพประกอบบทความนี้ ดิฉันพยายามหาเครื่องนุ่งห่มที่มีสีตามตำราว่ามาใส่ถ่ายเป็นแบบ แต่ก็ค่อนข้างหายากค่ะ อยากจะหาผ้าไหมผ้าฝ้ายที่ย้อมสีธรรมชาติในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องยากมาก ก็จำเป็นต้องหาซื้อผ้านุ่งและสไบที่มีขายในท้องตลาดโดยเทียบเอากับตารางสีไทยโทนที่ได้มาจากกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อหลายปีก่อนมาเทียบเคียงแบบพอใช้ได้ ยังไม่เหมือนเลยเสียทีเดียว

( “สีไทยโทน” มีจุดเริ่มต้นจากการค้นคว้าวิจัยของ อาจารย์โพโรจน์ พิทยเมธี อาจารย์พิเศษคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำให้สังคมตระหนักถึงความเป็นมาของสีไทยที่มีรากเหง้ามานาน ปรุงด้วยวัสดุจากธรรมชาติ มีชื่อเรียกไพเราะ มีความหมาย และมีหลักฐานสืบค้นย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในการวิจัยใช้อุปกรณ์ระบบดิจิตอลเพื่อเทียบสีงานจิตรกรรมไทยโบราณกับค่าสีปัจจุบันที่กำหนดด้วยคอมพิวเตอร์  ซึ่งชุดความรู้ดังกล่าวทำให้เกิด ‘เทรนด์ไทยโทน’ ในรูปเฉดสีไทยมากกว่า 200 สี พร้อมชื่อสี และการกำหนดค่าสีที่สามารถนำไปใช้งานจริง )